เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี นำเสนอข้อมูลการดำเนินงาน “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ของจังหวัดปทุมธานี ต่อคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
22 พฤศจิกายน 2563
เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี นำเสนอข้อมูลการดำเนินงาน “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ของจังหวัดปทุมธานี ต่อคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
**********
วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมหมายเลข ๔๑๐ ชั้น ๔ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) พระเดชพระคุณพระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และประธานคณะอนุกรรมการ โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (สร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี 5ส) ฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้นำเสนอรายละเอียดการดำเนินงาน “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (สร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส)” ของจังหวัดปทุมธานี ในฐานะเป็นจังหวัดที่ได้รับรางวัล “สัปปายะอะวอร์ด” จังหวัดต้นแบบ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อประกอบการพิจารณา และส่งเสริมการดำเนินงานต่อไป
โดยพระเดชพระคุณพระธรรมรัตนาภรณ์ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการขับเคลื่อนดำเนินงานโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (สร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส) ของจังหวัดปทุมธานี ด้วย "แผนปฏิบัติการ ๓๕๗๙ สู่วัดสวยด้วยความสุข" ประกอบด้วย ๓ พันธกิจ, ๕ส เครื่องมือ, ๗ แนวทางการดำเนินงาน และ ๙ แนวปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
- ๓ พันธกิจ คือ ๑. การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดและชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะ, ๒.การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ของวัดและชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ และ ๓. การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา
- ๕ส เครื่องมือในการดำเนินงานเพื่อสร้างสัปปายะสู่วัด คือ สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย
- ๗ แนวทางการดำเนินงานสร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส คือ ๑. กำหนดคณะกรรมการ, ๒. ประกาศนโยบาย, ๓. อบรมให้ความรู้, ๔. สำรวจพื้นที่ จัดทำแผนผังวัด และวิเคราะห์พื้นที่เพื่อการพัฒนา, ๕. จัดทำแผนปรับปรุง, ๖. ลงมือปฏิบัติ และ ๗. สรุปผลการดำเนินงาน
- ๙ แนวปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่ ๕ส ในวัด คือ ๑. ป้ายชื่อวัด บริเวณหน้าวัด และแผนผังวัดโดยสังเขป, ๒. การจัดการจราจร ป้ายจราจร และที่จอดรถ, ๓. การจัดระบบคลังวัสดุสงฆ์ และการควบคุมการเบิก-จ่ายสิ่งของ, ๔. ห้องน้ำ, ๕. การจัดการขยะ, ๖. สภาพแวดล้อมทั่วไป (ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย ของพื้นที่เปิดโล่งต่างๆ ภายในวัด), ๗. ระบบไฟฟ้า และการป้องกันอัคคีภัย, ๘. โรงครัว และ ๙. อาคารเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด