คณะสงฆ์จังหวัดพังงา และภาคีเครือข่ายฯ ขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข - ประธานคณะอนุกรรมการฯ บรรยายสรุป

16 กันยายน 2562
  •    1,631
คณะสงฆ์จังหวัดพังงา และภาคีเครือข่ายฯ ขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข - ประธานคณะอนุกรรมการฯ บรรยายสรุป "๓ พันธกิจ ๕ส เครื่องมือ ๗ แนวทางการดำเนินงาน ๙ แนวปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่"
**********
เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ วัดประชุมศึกษา (วัดทุ่งมะพร้าว) ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงาพระเทพกิตติเวที รักษาการเจ้าคณะภาค ๑๗ เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นประธานการประชุมพระสังฆาธิการในจังหวัดพังงา ภาค ๑๗ ระดับเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เลขานุการ และหัวหน้าที่พักสงฆ์ โดยมีพระสิริธรรมาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดพังงา เจ้าอาวาสวัดพระธาตุคีรีเขต พระครูวิสิฐศาสนการ เจ้าคณะจังหวัดพังงา เจ้าอาวาสวัดนิคมสโมสร และพระสังฆาธิการจังหวัดพังงา ในฝ่ายฆราวาส มีนายประภาส ขุนพิทักษ์ นายอำเภอท้ายเหมือง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพังงา นางสาวสุดาลักษณ์ ชินวิรารัฒน์ ประธานชมรมรักษ์บวร รักษ์ศีล ๕ ปทุมธานี ในอุปถัมภ์พระธรรมรัตนาภรณ์ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมฯ โดยพร้อมเพรียงกัน
ในโอกาสเดียวกันนี้ ได้มีการประชุมสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนดำเนินงาน "โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข จังหวัดพังงา" ตามมติมหาเถรสมาคม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ฝ่ายสาธารณูปการ โดยมี พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และประธานอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคม ได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ "๓ พันธกิจ, ๕ส เครื่องมือ, ๗ แนวทางการดำเนินงาน และ ๙ แนวปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่" เพื่อขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข มุ่งสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ในการสร้างสัปปายะสู่วัด ด้วยวิถี ๕ส
ซึ่งมีรายละเอียดการบรรยายโดยสรุป ดังนี้
- ๓ พันธกิจ คือ ๑. การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดและชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะ, ๒.การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ของวัดและชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ และ ๓. การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา
- ๕ส เครื่องมือในการดำเนินงานเพื่อสร้างสัปปายะสู่วัด คือ สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย
- ๗ แนวทางการดำเนินงานสร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส คือ ๑. กำหนดคณะกรรมการ, ๒. ประกาศนโยบาย, ๓. อบรมให้ความรู้, ๔. สำรวจพื้นที่ จัดทำแผนผังวัด และวิเคราะห์พื้นที่เพื่อการพัฒนา, ๕. จัดทำแผนปรับปรุง, ๖. ลงมือปฏิบัติ และ ๗. สรุปผลการดำเนินงาน
- ๙ แนวปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่ ๕ส ในวัด คือ ๑. ป้ายชื่อวัด บริเวณหน้าวัด และแผนผังวัดโดยสังเขป, ๒. การจัดการจราจร ป้ายจราจร และที่จอดรถ, ๓. การจัดระบบคลังวัสดุสงฆ์ และการควบคุมการเบิก-จ่ายสิ่งของ, ๔. ห้องน้ำ, ๕. การจัดการขยะ, ๖. สภาพแวดล้อมทั่วไป (ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย ของพื้นที่เปิดโล่งต่างๆ ภายในวัด), ๗. ระบบไฟฟ้า และการป้องกันอัคคีภัย, ๘. โรงครัว และ ๙. อาคารเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด
 
 

  •    1,631

ยอดนิยม

ล่าสุด