ความเป็นมาของโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข
สังคมไทยเป็นสังคมที่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งโบราณกาล คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ได้รับการหล่อหลอมด้วยหลักธรรมคำสอนและวิถีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตของคนไทยจึงมีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระพุทธศาสนา แต่เมื่อสังคมโลกเปิดกว้างขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยีและวัฒนธรรม ส่งผลให้สังคมไทยเข้าไปสู่กระแสแห่งยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งมีผลทั้งทางบวกและทางลบ ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติในหลายด้านทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและด้านสิ่งแวดล้อม จากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อกิจการพระพุทธศาสนาทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ว่าหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาจะเป็นสัจธรรม ทันสมัย แต่การปรับตัวที่ล่าช้าขององค์กรทางพระพุทธศาสนาและบุคลากรทางศาสนาเป็นเหตุนำมาซึ่งวิกฤติศรัทธา ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาสังคมไทย ทำให้เกิดการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจและเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้อย่างแท้จริง
ต่อมามหาเถรสมาคมและรัฐบาลได้เห็นชอบร่วมกันในการอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาระยะ ๕ ปี และ ๒๐ ปี ซึ่งเกิดจากการระดมความคิด กลั่นกรองและเห็นชอบร่วมกันของคณะสงฆ์ทั่วทุกภูมิภาคตามมิติมหาเถรสมาคมในการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๕๙ (มติที่ ๑๐๖/๒๕๕๙) และในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๐ ที่มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน” อันเป็นการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อย่างเป็นรูปธรรม
แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนานี้ ประกอบด้วยพันธกิจ ๖ ด้าน ตามพันธกิจคณะสงฆ์ คือ ๑) ด้านการปกครอง ๒) ด้านศาสนศึกษา ๓) ด้านศึกษาสงเคราะห์ ๔) ด้านเผยแพร่ ๕) ด้านสาธารณูปการ ๖) ด้านสาธารณสงเคราะห์ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มภาระงานพิเศษอีก ๑ ด้าน คือ ด้านการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก เป็นการดำเนินการภายใต้ค่านิยม (Core Value) ที่ว่า “อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา สู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน”
สำหรับแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนายังได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ ๔ ด้าน คือ (๑) สร้างความมั่นคงด้านพระพุทธศาสตร์ (๒) ยกระดับกระบวนการบริหารจัดการภายใน (๓) พัฒนาองค์กร แห่งการเรียนรู้เชิงพุทธ และ (๔) มีทรัพยากรเพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย ๑๐ กลยุทธ์ และ ๑๔ ตัวชี้วัด
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา บรรลุวัตถุประสงค์ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด คณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (คปพ.) จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ซึ่งมีโครงการเชิงยุทธศาสตร์ จำนวน ๑๔ โครงการ เช่น โครงการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่สังคมโครงการยกระดับหมู่บ้านรักษาศีล ๕ โครงการวิปัสสนากรรมฐานเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โครงการสาธารณสงเคราะห์เพื่อสังคม โครงการพัฒนาพุทธมณฑลสู่ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก เป็นต้น
“โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” มีแนวคิดที่ว่า วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทย มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นเสาหลักในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ วัดจึงถือเป็นสถานที่สำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทย ต่อมาวัดกลายเป็นสถานที่ผู้คนในทุกระดับมาใช้จนทำให้วัดกลายเป็นที่สกปรก ไม่เรียบร้อย ขาดการวางระบบการจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับวัด รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมและขยะภายในวัดยังไม่เป็นระบบ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น สถาบันอาศรมศิลป์ ได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้ดำเนินการพัฒนาโครงการวัดสร้างสุขและวัดบันดาลใจ เพื่อพัฒนารูปแบบและนำแนวคิด ๕ ส ซึ่งประกอบไปด้วย สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย ลงสู่บริบทของวัด เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นสถานที่ร่มรื่น สวยงาม เหมาะสมกับการเรียนรู้ เป็นพื้นที่แบบอย่างทางด้านกายภาพและด้านจิตใจ รวมถึงการนำแนวคิดการออกแบบพื้นที่ตามหลักภูมิสถาปัตยกรรมมาใช้ในการพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่สัปปายะ เป็นอารามที่รื่นรมย์ มีความสวยงามตามหลักภูมิสถาปัตยกรรมไทย เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างสุขภาวะทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจ สังคม และปัญญาสืบต่อไป