การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพภายในวัด (วัดรอบรู้สุขภาพ)

16 พฤศจิกายน 2563
  •    1,607

๒.๔ การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพภายในวัด (วัดรอบรู้สุขภาพ)

             การส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมภายในวัดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่า การที่พระสงฆ์ หรือประชาชนมีสุขภาพดีนั้น หมายถึง การมีสภาวะความสมบูรณ์และความสมดุลของบุคคลทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม รวมทั้งมีสภาวะที่ปราศจากโรค และมีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างปกติสุข  ดังนั้น วัดจึงควรมีการส่งเสริมเพื่อให้พระสงฆ์และประชาชนมีสุขภาพดีทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ในการส่งเสริมสุขภาพจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมิติสุขภาพ เข้าใจหลักและวิธีปฏิบัติในการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการส่งเสริมสุขภาพได้อย่างถูกต้อง

    แนวทางการส่งเสริมการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพภายในวัด (วัดรอบรู้สุขภาพ) ทางกรมอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติการจัดการพื้นที่และบริบท เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ โดยมีแนวทางดังนี้

             (๑) การส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม วัดมีระบบหรือฐานข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร และนักบวช จากการคัดกรองประเมินสุขภาพประจำปีของทีมสาธารณสุขในพื้นที่ (อย่างน้อยร้อยละ ๖๐ ) โดยมีการจัดเก็บข้อมูลเป็นรายบุคคล รายวัดที่สถานบริการสาธารณสุขด้วย

             (๒) สื่อสาร วัดมีช่องทางให้พระสงฆ์ สามเณรและนักบวช ในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อสนับสนุนการเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ เช่น มีป้าย บอร์ดหรือมุมในเชิงการส่งเสริมสุขภาพภายในวัด ที่สามารถนำสู่การเฝ้าระวังโรคได้อย่างเป็นองค์รวม

             (๓) พฤติกรรมที่พึงประสงค์ พระสงฆ์ สามเณรและนักบวช มีพฤติกรรมด้านการฉันอาหาร การบริหารขันธ์ที่เหมาะสม การดูแลส่งเสริมสุขภาพกายสุขภาพใจรวมถึงการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม ภายในวัด

    (๔) วัดมีการส่งเสริมและสนับสนุน ให้พระสงฆ์ สามเณร และนักบวชนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญา มาปรับใช้ในการดูแลสุขภาพตนเอง และมีการประยุกต์ในธรรมะเทศนาเกี่ยวกับเชิงส่งเสริมสุขภาพ เช่น การตักบาตรให้ได้บุญ การเลือกฉันอาหารสุขภาพโดยมุ่งเน้นลดหวาน  ลดมัน ลดเค็ม

    (๕) วัดมีการส่งเสริม สนับสนุนให้พระสงฆ์ สามเณรและนักบวช มีความรู้ในระบบบริการสุขภาพและสิทธิการรักษา (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) 

    (๖) วัดมีส่วนสนับสนุนโครงการพระคิลานุปัฏฐากด้วยการส่งพระสงฆ์เข้ารับการอบรมภายใต้หลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก เพื่อเป็นผู้นำทางสุขภาวะของชุมชน (ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติประจำปี ๒๕๖๐) ที่สามารถขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนด้วยพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียนและส่วนราชการ)

             (๗) การจัดการสถานที่และกิจกรรมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ เช่น มีตู้ยาสามัญประจำวัด ตามพระราชดำริของสมเด็จพระมหาธีราจารย์  (ปสฤทธิ์ เขมังกโร)  หรือห้องพยาบาลสำหรับพระสงฆ์ และมีสถานที่ส่งเสริมกิจกรรมทางสุขภาพสำหรับพระสงฆ์ สามเณร นักบวช และชุมชน เช่น ลานกีฬา ลานที่โล่งแจ้ง

             (๘) นวัตกรรมสุขภาพ ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านการดูแลส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น ทางเดินกะลา ทางเดินหินกรวดสำหรับนวดฝ่าเท้า การหมักปุ๋ยธรรมชาติจากเศษอาหาร  การบำบัดลำรางด้วยน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น        

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

             (๙) วัดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านต่าง ๆ  วัดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม และสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเชิงการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยสร้างช่องทางสื่อสารที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้  เช่น เฟสบุ๊คของวัด  QR code ภายใต้โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นต้น

             (๑๐) วัดสามารถเป็นที่จัดการอบรม ประชุมสัมมนา เข้าค่าย ในด้านส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น มีพื้นที่ภายในวัดที่สามารถใช้ในการอบรมประชุมสัมมนาหรือเข้าค่ายด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมตามบริบทของวัดในแต่ละพื้นที่


  •    1,607