การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัด

16 พฤศจิกายน 2563
  •    3,668

๒.๓ การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัด

             การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัดเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการดูแลสุขภาพอนามัยทั้งทางกายและจิตใจ โดยมุ่งเน้นการจัดการ การดูแล และการปรับปรุงสภาวะต่างๆ ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยมีวัดและพระสงฆ์เป็นผู้นำในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม และการเผยแพร่ความรู้ แนวคิด ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนและสังคม รวมทั้งการเสริมศักยภาพในการปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนและสังคม

    แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัดมีเป้าหมายเพื่อให้วัดและชุมชน มีความสะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นรมนียสถาน เหมาะสมกับกาเรียนรู้และการปฏิบัติธรรม โดยแนวทางการจัดการนั้น โดยมุ่งเน้นให้พระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติดูแลรักษาความสะอาด การปลูกต้นไม้ การคัดแยกขยะ การบำบัดน้ำเสีย และการดูแลสุขอนามัยภายในวัด ควบคู่กับการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงาน นับตั้งแต่การวางแผน การออกแบบพุทธศิลปกรรมภายในวัด การดำเนินการ การติดตามประเมินผล และการสรุปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการจัดการตามหลักนิเวศวิทยาเชิงพุทธ

    กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัดไว้เพื่อประโยชน์ต่อการมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี โดยมีสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องจำนวน ๙ ประเด็น ได้แก่

 

การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัด

 

การจัดการเตาเผาเมรุ

ให้วัดปลอดอบายมุข สุรา บุหรี่

การจัดการน้ำเสีย

พื้นที่สีเขียว

สิ่งแวดล้อมภายในวัด

 

การจัดการอาคาร/สถานที่

การจัดการขยะมูลฝอย

 

ป้องกัน

เพลิงไหม้

ลดมลพิษควันธูป

 

 

การจัดการเตาเผา/เมรุ

การมีส่วนร่วมในการจัดการ

พื้นที่สีเขียว ๑. การจัดการพื้นที่สีเขียวภายในวัด พื้นที่สีเขียว (green space) หมายถึง พื้นที่กลางแจ้ง และกึ่งกลางแจ้งที่มีขอบเขตที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนหรืออาจมีอาคารตั้งอยู่บางส่วน เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ประกอบด้วยพื้นที่สีเขียวเพื่อนันทนาการและความงามทางภูมิทัศน์ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดหรือบริเวณรอบวัด แนวทางดำเนินการดังนี้

                   (๑) การปลูกต้นไม้เพื่อความสวยงาม ดูแลรักษาต้นไม้และพื้นที่สีเขียวอยู่เป็นประจำ เพื่อสร้างความร่มรื่นและสวยงามในเขตพื้นที่ตั้งวัด เช่น การปลูกไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ดอก ไม้ประดับ และไม้กระถาง เช่น บริเวณลานจอดรถ พื้นที่รกร้าง พื้นที่ สองข้างทางเดินเท้าและริมถนน ควรเป็นชนิดพันธุ์เดียวกัน เพื่อให้เกิดความความสม่ำเสมอและดูแลจัดการได้ง่าย

                   (๒) การปลูกต้นไม้ในพระพุทธศาสนา หรือต้นไม้ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา โดยมีป้ายชื่อชนิดต้นไม้และความสำคัญทางพุทธศาสนา โดยมีการดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ในพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ

                   (๓) การอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ภายในวัด (อายุ ๓๐ ปีขึ้นไป) แนวคิดและหลักการของพระพุทธศาสนาในการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ คือ “การไม่ทำลายป่าและต้นไม้ในทุกมิติ” ดังนั้น พระสงฆ์ที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม จึงพยายามที่จะหาวิธีและแนวทางที่จะรักษาป่าไว้ไม่ให้ถูกทำลาย ขณะเดียวกันก็พยายามเพิ่มพื้นที่ป่ามากขึ้น ด้วยแนวคิดและวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น การบวชต้นไม้ การขึ้นทะเบียนต้นไม้ เป็นต้น

                   (๔) การปลูกพืชสมุนไพร/การปลูกผักพื้นบ้าน ประโยชน์พืชสมุนไพร คือ พืชที่ใช้ทำเป็นเครื่องยาช่วยส่งเสริมสุขภาพและการรักษาโรค จึงควรส่งเสริมการปลูกและการบริโภคผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพรของไทย โดยใช้วัดเป็นแหล่งเรียนรู้ในการส่งเสริมการขยายพันธุ์ผักพื้นบ้านที่หายากเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชุมชนและวัด และควรมีการบำรุงรักษาพืชสมุนไพรและผักพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง

ภาพสมุนไพรประจำบ้าน

             ๒. การจัดการอาคารและสถานที่ การสุขาภิบาลอาคารและสถานที่ หมายถึง การจัดการ ควบคุมดูแลอาคารและสถานที่ให้สะอาดถูกสุขลักษณะ เพื่อให้วัดมีสุขาภิบาลที่ดี มีความปลอดภัย และ ไม่เป็นแหล่งกำเนิดโรคระบาด โดยมีวิธีดำเนินการ ดังนี้

                   (๑) การกำหนดแผนผังการใช้พื้นที่ โดยกำหนดพื้นที่ภายในวัดเป็นสัดส่วนชัดเจน วัดโดยทั่วไปนิยมแบ่งเขตพื้นที่ภายในออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส เขตธรณีสงฆ์ ตามที่กล่าวแล้ว เพื่อให้มีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย สวยงาม

                   (๒) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบ โดยเริ่มจากบริเวณรอบวัด (ถนน ทางเดิน ลานวัด ที่จอดรถ พื้นที่เปิดโล่ง) ศาลาการเปรียญ/อุโบสถ/อาคาร บริเวณกุฎิ หรือที่พักห้องครัว ห้องน้ำ ห้องสุขาสาธารณะ ร้านค้า สามารถนำหลัก 5ส มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการจัดการความสะอาดและความเป็นระเบียบภายในวัด

                   (๓) การดูแลบริเวณห้องครัว ให้มีความสะอาด มีระบบการจัดเก็บที่ปลอดภัย มีแสงสว่างที่เหมาะสม เป็นต้น

                   (๔) การจัดการร้านค้า/สังฆทานภายในวัด โดยมีการดูแลความสะอาด บริเวณร้านค้า มีถังขยะรองรับขยะอย่างเพียงพอ มีฝาปิด มีการคัดแยกขยะที่เหมาะสม

                   (๕) ห้องน้ำ ห้องสุขาสาธารณะ โดยการจัดการห้องน้ำ ห้องสุขาสาธารณะให้ได้มาตรฐาน ไม่ให้เป็นแหล่งแพร่โรคติดต่อ และสร้างความพึงพอใจของผู้ ใช้บริการ จะเน้นการพัฒนาเรื่อง สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย โดยครอบคลุมในประเด็น พื้น ผนัง เพดาน โถส้วม/โถปัสสาวะ ที่กดโถส้วม/โถปัสสาวะ สะอาด ไม่มีคราบสกปรก อยู่ในสภาพดี ใช้งานได้ มีน้ำใช้ สะอาด เพียงพอ และไม่เป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง รวมถึงภาชนะเก็บกักน้ำ ขันตักน้ำ สะอาด อยู่ในสภาพดี ใช้งานได้ เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

(ภาพห้องน้ำสวยๆ)

 

 

 

 

             ๓. การจัดการขยะมูลฝอยและพวงหรีด การจัดการขยะภายในวัดและขยะจากการใช้หรีด การใช้พวงหรีดดอกไม้สด พวงหรีดพลาสติก โฟม เมื่อเสร็จงานแล้วจะมีขยะจำนวนมากที่วัดจะต้องกำจัด ดังนั้น วัดควรมีแนวทางในการจัดการขยะทั่วไปและขยะจากพวงหรีดที่เกิดขึ้น และรณรงค์ให้มีการใช้พวงหรีดชนิดที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์หลังเสร็จสิ้นงานศพ โดยมีแนวทางดังนี้

                   (๑) เริ่มจากการลดขยะให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้สะดวกกับการบริหารจัดการ

                   (๒) ควรมีการรณรงค์ ให้พุทธศาสนิกชนช่วยกันลดปริมาณขยะ หรือหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่าย

                   (๓) การคัดแยกขยะตามประเภทขยะ ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ เศษใบไม้ และขยะอันตราย รวมถึงการกำจัดอย่างถูกต้องเหมาะสม และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น การจัดการขยะรีไซเคิล ถ้าวัดมีการคัดแยก สามารถนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ ขยะประเภทนี้ได้แก่ กระดาษ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว เป็นต้น

          (๔) สร้างความเข้าใจให้แก่พุทธศาสนิกชนถึงปัญหาปริมาณขยะทั่วไปและขยะจากพวงหรีด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเลือกใช้พวงหรีดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์หลังเสร็จงานศพได้ และลดปริมาณขยะที่วัดต้องจัดการ เช่น พวงหรีดต้นไม้ พวงหรีดจากเครื่องครัวทั้งจาน ช้อน ถ้วย ชาม จักรยาน เก้าอี้ ผ้าห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม กาน้ำร้อน เครื่องปั่นอาหาร นาฬิกา หม้อหุงข้าว เป็นต้น สำหรับพวงหรีดดอกไม้สด ดอกไม้อาจนำไปทำปุ๋ยหมัก ส่วนโครงฟางพวงหรีดสามารถนำกลับมาเป็นโครงใหม่ หรือแยกจำหน่าย

 

 

             ๔. การจัดการน้ำเสีย ปัญหาน้ำเสียภายในวัดส่วนใหญ่เกิดจากการซักล้างทำความสะอาด การประกอบอาหาร และสิ่งขับถ่าย ซึ่งมีการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ และ อาจมีเชื้อโรคที่แพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้น น้ำเสียเหล่านี้ควรผ่านการบำบัดก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก เพื่อลดความสกปรก และความเป็นพิษของน้ำเสีย รวมถึงทางวัดควรมีมาตรการการประหยัดน้ำ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การล้างภาชนะ การชำระล้างทำความสะอาด เป็นต้น รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับการบำบัดน้ำเสียในแต่ละแหล่งกำเนิด มีแนวทางการจัดการ ดังนี้

          (๑) การจัดการเศษอาหาร และกากไขมัน โดยการสำรวจปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น เพื่อหาขนาดถังดักไขมันให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำเสีย และลดการใช้น้ำมันในการปรุงอาหาร เทเศษอาหารออกจากภาชนะก่อนนำไปล้าง ไม่เทน้ำมันที่ใช้แล้วลงน้ำทิ้งหรือท่อระบายน้ำ ควบคุมน้ำเสียจากกิจกรรมต่างๆ และนำไปจัดการอย่างเหมาะสม

          (๒) การจัดการน้ำเสียจากส้วม น้ำเสียจากส้วม เป็นน้ำเสียที่มีสิ่งปฏิกูลและแอมโมเนียเจือปนอยู่ ซึ่งน้ำเสียที่เกิดขึ้นควรบำบัดโดยให้น้ำเสียไหลผ่านถังเกรอะก่อนโดยบ่อเกรอะจะมีลักษณะเป็นบ่อปิด น้ำซึมไม่ได้ โดยให้มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง

          (๓) การจัดการน้ำเสียจากกิจกรรมอื่นๆ จะต้องมีการจัดการ/ระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับต่อขนาดและกิจกรรมของวัด สามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการดูแลบำรุงรักษาระบบจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ถ้าวัดมีน้ำเสียจาการอาบน้ำ และการซักล้าง จำนวนมาก ควรให้น้ำเสียไหลผ่านบ่อเกรอะเพื่อกำจัดสารอินทรีย์ เศษไขมัน คราบสบู่ แล้วผ่านไปยังบ่อกรองไร้อากาศต่อไป หรือบำบัดน้ำเสียโดยติดตั้งถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป ระบบการทำงานของถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป ใช้หลักการ “จุลินทรีย์กำจัดจุลินทรีย์” โดยกากของเสียซึ่งไหลลงสู่ถังบำบัดน้ำเสีย จะตกตะกอนอยู่ก้นถังที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์คอยย่อยสลาย ทำให้ไม่มีกลิ่นเนื่องจากไม่มีตะกอนตกค้างในถังและไม่ต้องพึ่ง การระบายน้ำของบ่อซึม สำหรับน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะปล่อยลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ

ตัวอย่างการติดตั้งบ่อดักไขมันบริเวณพื้นที่ล้างจาน

 

             ๕. การจัดการเตาเผาศพ (เมรุ) “การเผาศพ” ถือเป็นธรรมเนียมประเพณีของชาวพุทธที่ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านานอาจจะมีพิธีกรรมที่อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเชื่อของพุทธศาสนิกชนในท้องถิ่น เมรุเผาศพจะเป็นแหล่งก่อมลพิษทางอากาศ ประเภทฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เขม่าและขี้เถ้าจากการเผาศพ แต่ถ้ามีการนำวัสดุ สิ่งของใส่รวมลงไปในการเผาศพ เช่น การใส่วัสดุประเภทพลาสติก ใยสังเคราะห์อุปกรณ์ตกแต่งโรงศพที่เป็นวัสดุพลาสติก พวงหรีด กระดาษเงินกระดาษทอง เทพพนม เพราะยังสารพิษประเภท “ไดออกซิน/ฟิวแรนส์”(Dioxins /Furans) ซึ่งไดออกซินฟิวแรนส์ เพียง 0.0000001 มิลลิกรัม สามารถส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ และหากได้รับพิษสะสมเข้าไปในร่างกายเป็นระยะเวลานาน ก็อาจจะส่งผลออกมาในรูปของ น้ำหนักลด โรคผิวหนัง ตับอักเสบ ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง อัณฑะมีรูปร่างผิดปกติ การสร้างอสุจิลดลง ตัวอ่อนหรือทารกผิดปกติ ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยมีแนวทางการจัดการ ดังนี้

                   (๑) วัดควรมีการดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด โดยหลีกเลี่ยงการใส่วัสดุประเภทพลาสติกลงไปในโลงศพ การเกิดมลพิษทางอากาศจากเตาเผาศพมีสาเหตุหลักจาก เชื้อเพลิงที่ใช้ เตาเผาศพที่ใช้ไม้ฟืนหรือถ่านเป็นเชื้อเพลิงมักจะเกิดปัญหามลพิษมากกว่าการใช้น้ำมันหรือก๊าซ  รูปแบบของเตาเผาศพ เตาเผาศพแบบ ๒ ห้องเผา จะมีห้องเผา ๒ ห้อง ห้องแรก เป็นห้องเผาศพ จะต้องออกแบบให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์

                   (๒) หากมีแผนงานปรับปรุงเมรุใหม่ ควรเป็นเตาเผาศพแบบ ๒ หัวเผาหรือเตาเผาไร้มลพิษ เตาเผาแบบนี้เป็นเตาเผาที่ออกแบบและมีเทคนิคการเผาทันสมัย โดยแบ่งห้องเผาไหม้ ออกเป็น ๒ ห้อง เตาเผาแบบนี้จะใช้เหล็กกล้าเป็นผนังและบุด้วยอิฐทนไฟ นิยมใช้น้ำมันดีเซล หรือก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง มีหัวเผา ๒ หัว โดยหัวเผาใหญ่สำหรับห้องเผาศพ ส่วนหัวเผาเล็กสำหรับห้องเผาควันและกลิ่น เพื่อกำจัดมลพิษให้หมดไปหรือให้เหลือน้อยที่สุดก่อนปล่อยออกไปทางปล่องควันและอาจจะมีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

                   (๓) กำหนดให้พนักงาน (สัปเหร่อ) จะต้องเดินระบบเตาเผาเดินระบบการเผาไหม้ ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม และคอยตรวจระบบการเผาไหม้อยู่เสมอ

                   (๔) มีการดูแลรักษาเตาเผาอย่างสม่ำเสมอ เช่น การซ่อมบำรุงปีละ ๒ ครั้ง รวมทั้งความสะอาดบริเวณเตาเผาศพอย่างต่อเนื่อง

            

 

(ภาพเมรุ)

 

             ๖. การป้องกันเพลิงไหม้ วัดควรจัดทำวิธีการป้องกันและแผนระงับเหตุฉุกเฉิน พร้อมทั้งมีการตรวจสอบวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ในวัด เช่น สายไฟและอุปกรณ์อยู่ในสภาพดี เพื่อเตรียมรับกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์ โดยมีวิธีดำเนินการ ดังนี้

                   (๑) สำรวจสายไฟและอุปกรณ์ว่ายังอยู่ในสภาพดี ไม่ชำรุด หรือเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร

                   (๒) จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอและพร้อมใช้งาน รวมทั้งระบุตำแหน่งเพื่อสะดวกต่อการใช้งาน ได้แก่ สัญญาณเตือนภัย ถังดับเพลิง (Fire Extinguishers) โดยติดตั้งอุปกรณ์บริเวณจุดเสี่ยงหรือจุดที่มีสามารถหยิบใช้งานได้อย่างสะดวก เช่น ครัว กุฏิ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น โดยถังดับเพลิงให้ติดตั้งตามมาตรฐานที่กำหนดและสะดวกกับการนำมาใช้  

                   (๓) จัดเตรียมหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ สำนักงานไฟฟ้า เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่  15 สัญญาณเตือนภัยแบบต่างๆ และถังดับเพลิง

 

 

 

             ๗. การลดมลพิษจากควันธูป ผลการวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบสารก่อมะเร็งในควันธูป ๓ ชนิด คือ เบนซิน บิวทาไดอีน และเบนโซเอโพรีม เนื่องจากส่วนประกอบของควันธูปมาจากกาว ขี้เลื่อย น้ำมันหอม และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม โดยสารก่อมะเร็งเกิดจากการเผาไหม้ของกาวและน้ำหอมเป็นสำคัญ ดังนั้น ธูป ๑ ดอก จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ๓๒๕ กรัม และก๊าซมีเทน ๗ กรัม ซึ่งมีศักยภาพเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง ๒๓ เท่า นอกจากนี้ ยังมีสารพิษอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมีส่วนในการก่อให้เกิดมะเร็งชนิดต่างๆ อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งในระบบเลือด มะเร็งปอด และมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังพบว่าปริมาณสารก่อมะเร็งที่พบในวัดมีความเข้มข้นสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้น เพื่อสุขภาพดีของพระสงฆ์ เจ้าหน้าที่ และพุทธศาสนิกชนที่เข้าวัด ควรมีมาตรการลดปริมาณที่ต้องสูดควันธูป โดยมีวิธีการจัดการ ดังนี้

          (๑) ลดจำนวนกระถางธูปตามความเหมาะสมเหลือเพียงจุดสำคัญ

          (๒) ควรตั้งกระถางธูปไว้นอกอาคาร สำหรับในกรณีที่จุดธูปในอาคาร ควรติดตั้งพัดลมระบายเพื่อดึงควันธูปออกสู่ภายนอกให้เร็วที่สุด

          (๓) รณรงค์ลดมลพิษจากควันธูปในงานบุญประเพณี

 

 

 

 

(ภาพควันรูป)

 

 

 

 

 

 

 

             ๘. การส่งเสริมให้วัดเป็นเขตปลอดอบายมุข บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วัดและชุมชนควรรณรงค์ส่งเสริมให้วัดเป็นเขตปลอดอบายมุข บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด เนื่องจากอบายมุข เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงยาเสพติดก่อให้เกิดปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ ปัญหาอาชญากรรม สร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคมและประเทศชาติ และเพื่อให้สอดคล้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นไปตามนัยแห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งห้ามขาย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัด โดยมีบทลงโทษคือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีวิธีดำเนินการ ดังนี้

                   (๑) การไม่จำหน่าย ถวาย เลี้ยง ดื่ม เสพ สูบ บุหรี่ ยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตพื้นที่วัด

                   (๒) มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้แก่พุทธศาสนิกชนถึงการส่งเสริมให้วัดเป็นเขตปลอดอบายมุข บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยวิธีต่างๆ เช่น มีป้ายรณรงค์ห้ามในเรื่องเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน

                   (๓) ควรมีการอบรม เทศน์ สอน บอกกล่าวหรือฝึกปฏิบัติธรรมในเรื่องอบายมุขและสิ่งเสพติด

                   (๔) การจัดกิจกรรมเพื่อให้วัดเป็นเขตปลอดอบายมุข บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด เช่น การศพปลอดอบายมุข เป็นต้น

 

 

 

(ภาพป้ายห้ามสูบบุหรี่ในวัด)

 

 

 

 

 

 

             ๙. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากการเพิ่มของประชากร (Population growth) เมื่อผู้คนมากขึ้นความต้องการบริโภคทรัพยากรก็เพิ่มมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน และเกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี  (Economic Growth & Technological Progress) ความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นทำให้มาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงตามไปด้วย มีการบริโภคทรัพยากรจนเกินความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานมากขึ้น ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็ช่วยเสริมให้วิธีการนำทรัพยากรมาใช้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น

             การให้ความรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ แก่พุทธศาสนิกชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งปัญหาภัยแล้ง โลกร้อน อุทกภัย วาตภัย น้ำเน่าเสีย ขยะล้นเมือง พื้นที่ป่าลดลง เพื่อให้ประชาชนทราบและเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การจัดการขยะ น้ำเสีย การอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น

             ดังนั้น การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม จึงมีความสำคัญเพราะเป็นกระบวนการที่ทำให้ประชาชนในชุมชนร่วมมือร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียว นำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน การมีส่วนร่วมนั้นมีเป้าหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการพัฒนา ช่วยเหลือ สนับสนุนในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมของวัด ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผลประโยชน์และร่วมประเมินผลเพื่อให้เกิดการยอมรับ และก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดทุกฝ่าย     โดยวิธีการดำเนินการร่วมกันของหลายๆ ภาคส่วน ได้แก่ วัด ชุมชน โรงเรียน หน่วยงานท้องถิ่น ตามแนวทางที่เรียกว่า “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน)  โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

                   (๑) การให้ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือ ภัยพิบัติ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น ติดป้ายรณรงค์ ติดบอร์ด เว็บไซด์ รวมถึงการใช้เสียงตามสาย หรือการเทศนาในวันสำคัญเพื่อถ่ายทอดหรือบอกข่าวสารให้แก่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและรับรู้อย่างเท่าเทียมกัน และ มีกิจกรรมเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติร่วมกับชุมชน

          (๒) มีการร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในวัด จัดอันดับความสำคัญของปัญหา

          (๓) มีการร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินการตามปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

          (๔) มีการร่วมกันกำหนดมาตรการ แนวทางในการดำเนินการ และรับผิดชอบเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

          (๕) มีการร่วมกันกำหนดระยะเวลาดำเนินการ และวิธีการติดตามประเมินผล

                   (๖) มีการร่วมกันดำเนินการตามแผนการดำเนินการที่วางไว้

          (๗) มีการร่วมกันติดตามผลการดำเนินงาน และปรับปรุง/พัฒนาหากผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายที่กำหนด

             แนวทางการพัฒนาวัดเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน วัดเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ อีกทั้งเป็นศูนย์กลางพัฒนาที่จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลางพัฒนาชุมชนนั้น สามารถทำได้ดังนี้

          (๑) สร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน โดยมีกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน มีความพร้อมที่จะให้บริการแก่ชาวบ้านที่ต้องการจะเข้าวัด เพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนา หรือกิจกรรมอื่นๆ พัฒนาวัดให้เกิดความรู้สึกแก่พุทธศาสนิกชนในชุมชนว่า วัดเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และเป็นหน้าที่ของตนในการช่วยกันดูแลรักษา

          (๒) กำหนดกิจกรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาชุมชนด้านสังคม ประเพณี วัฒนธรรม เช่น ศูนย์พัฒนาชุมชน ชมรมผู้สูงอายุ ที่ประชุมประชาคม ศูนย์กลางวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น

          (๓) สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างวัดกับชุมชน ใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมจากความร่วมมือของวัด/ชุมชน/โรงเรียน/หน่วยงานท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อพัฒนา/ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมรณรงค์อนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำคูคลอง กิจกรรมรณรงค์การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน กิจกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัดเพิ่มเติม กิจกรรมรณรงค์การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น การปลูกต้นไม้ การปลูกป่า การรักษาป่า เป็นต้น กิจกรรมการทำฝายชะลอน้ำ การพัฒนาคูคลอง การจัดการขยะ

 

 

(ภาพความร่วมมือวัด ประชา รัฐ สร้างสุข)


  •    3,668