๒.๑ รูปแบบการวางผังบริเวณและพื้นที่ภายในวัด
การวางผังบริเวณเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการจัดการและการพัฒนาพื้นที่ภายในวัด เป็นการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งของอาคาร สิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ เช่น ปัจจัยทางธรรมชาติ ปัจจัยด้านสุนทรียภาพ ปัจจัยด้านวัฒนธรรม และปัจจัยการใช้สอยที่ดินหรือการใช้ประโยชน์ของอาคาร
สำหรับการวางผังบริเวณวัดในประเทศไทยนั้น วัดโดยทั่วไปนิยมแบ่งเขตพื้นที่ภายในออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือ ๑)เขตพุทธาวาส ๑) เขตสังฆาวาส และ ๓) เขตธรณีสงฆ์
การวางผังบริเวณของวัดในสังคมไทย
เขตธรณีสงฆ์ พื้นที่สาธารณะวัดเพื่อสังคม |
เขตพุทธาวาส |
เขตธรณีสงฆ์ มุมสงบ |
เขตสังฆาวาส |
เขตสังฆาวาส |
เขตธรณีสงฆ์ สวนพุทธธรรม/พื้นที่เรียนรู้ |
๑. เขตพุทธาวาส เป็นพื้นที่สำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นเสมือนสัญลักษณ์หรือสถานที่ประทับขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำว่า “พุทธาวาส” มีความหมายว่าเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า ในเขตพุทธาวาสมักประกอบด้วยสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์และพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ได้แก่
๑) พระเจดีย์ พระมณฑป พระปรางค์ : อาคารที่สร้างเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางหลักของวัด
๒) พระอุโบสถ : อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในการทำสังฆกรรม
๓) พระวิหาร : อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส
๔) เจดีย์ มณฑป ปรางค์ : อาคารที่ใช้บรรจุอัฐิ หรือประกอบเพื่อให้ผังรวมสมบูรณ์
๕) ศาลา เช่น ศาลาราย : อาคารที่ใช้เป็นที่นั่งพักของผู้มาเยือน
๖) ศาลาทิศ : อาคารที่ใช้ล้อมอาคารสำคัญสำหรับให้คฤหัสถ์นั่งพัก
๗) พระระเบียง : อาคารที่ล้อมอาคารหลักสำคัญแสดงขอบเขตแห่งพุทธาวาส
๘) หอไตร : อาคารที่ใช้เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา
๙) พลับพลาเปลื้องเครื่อง : อาคารที่ใช้สำหรับเป็นที่พระมหากษัตริย์เปลี่ยนชุดฉลองพระองค์ในวาระที่ทรง เสด็จพระราชดำเนินเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล
พระเจดีย์ พระปรางค์ และพระมณฑป ถือเป็นอาคารที่สำคัญที่สุดในฐานะหลักประธานของวัด จึงมักถูกวางตำแหน่งลงในผังตรงส่วนที่สำคัญที่สุดของเขตพุทธาวาส เช่น บริเวณกึ่งกลางหรือศูนย์กลางหรือแกนกลางของผัง อาคารสำคัญรองลงมากลุ่มแรกคือ พระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งอาคารทั้ง ๒ ประเภทนี้ มักใช้ประกอบคู่กันกับพระเจดีย์เสมอ หรืออาจใช้ประกอบร่วมกันทั้ง ๓ ประเภท คือ พระอุโบสถ พระเจดีย์ และพระวิหาร
ภาพผังบริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
๒. เขตสังฆาวาส เป็นบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดที่กำหนดไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพิธีการใดทางศาสนา พื้นที่บริเวณนี้ประกอบไปด้วยอาคารสถานที่สัมพันธ์เฉพาะกับกิจกรรมและวัตรปฏิบัติที่เป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของเพศสมณะ เช่น
๑) กุฏิ : อาคารที่ใช้สำหรับพักอาศัย
๒) กัปปิยกุฎี : โรงเก็บอาหาร
๓) หอฉัน/โรงครัว : อาคารที่ใช้เป็นที่ฉันภัตตาหาร
๔) ศาลาการเปรียญ : อาคารที่ใช้เป็นที่เรียนหนังสือของพระสงฆ์
๔) ชันตาฆร : โรงรักษาไฟและต้มน้ำ
๖) ห้องสรงน้ำ/เว็จกุฎี : อาคารสำหรับสรงน้ำและใช้ขับถ่าย
ลักษณะการวางตำแหน่งอาคารในผังเขตสังฆาวาส กุฏิ ถือเป็นอาคารหลักสำคัญ โดยมีอาคารประเภทอื่นประกอบเพื่อประโยชน์ใช้สอยที่เกี่ยวเนื่องกัน ส่วนใหญ่ไม่มีกฎเกณฑ์การวางผังมากนัก นอกจากบางประเภทของวัด ชั้นของวัด ที่ตั้ง รวมทั้งขนาดยังมีผลต่อการจัดวางผังของเขตนี้ กล่าวคือ หากเป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในแถบถิ่นชนบท นิยมวางตัวกุฏิกระจายตัวเป็นหลังๆ อาคารที่เป็นองค์ประกอบรองหลังอื่นๆ ก็จะจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้สอยของพระภิกษุ
(ภาพหมู่กุฎิ)
๓. เขตธรณีสงฆ์และสาธารณสงเคราะห์ หมายถึง เขตพื้นที่ในพระอารามที่วัดกำหนดพื้นที่บางส่วนที่เหลือจากการจัดแบ่งเขตสำคัญ คือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส ให้เป็นเขตพื้นที่สำหรับเอื้อประโยชน์ใช้สอยในเชิงสาธารณะประโยชน์ในลักษณะต่างๆ ของวัด เช่น
๑) ธรรมศาลา : อาคารหรือโรงเทศนาธรรม
๒) หอระฆัง : อาคารที่ใช้เป็นเครื่องตีบอกเวลาสำหรับพระภิกษุสงฆ์
๓) พื้นที่สีเขียว : พื้นที่เชื่อมระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส หรือบริเวณหลังวัด
๔) พิพิธภัณฑ์ : อาคารที่เก็บรักษาและแสดงวัตถุโบราณหรือสิ่งของสำคัญของวัด
๕) ศูนย์เรียนรู้ชุมชน : อาคารที่ประชุมและสถานที่ทำกิจกรรมของวัดและชุมชน
๖) ศาลาอเนกประสงค์ : อาคารที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง แล้วแต่ความต้องการ
๗) เมรุ : อาคารที่ใช้ในการจัดการเผาศพ เป็นต้น
เขตธรณีสงฆ์ดังกล่าว ใช้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อสร้างความร่มรื่นให้วัด หรือใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารอื่นๆ เช่น สร้างเมรุสำหรับฌาปนกิจศพชุมชน ศูนย์เรียนรู้ชุมชนหรือการตั้งโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาแก่สังคม โดยเป็นพื้นที่ให้คฤหัสถ์เข้ามาเรียนรู้ พักผ่อน เป็นต้น
การแบ่งพื้นที่วัดออกเป็น ๓ ส่วนนี้ ในเชิงการออกแบบทางสถาปัตยกรรมมีความหมาย
ส่วนหนึ่ง คือ เขตพุทธาวาส ใช้เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ (Semi-Public Zone)
ส่วนสอง คือ เขตสังฆาวาส ใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัว (Private Zone) เฉพาะของพระสงฆ์
ส่วนสาม คือ เขตธรณีสงฆ์ เป็นเสมือนเขตพื้นที่สาธารณะ (Public Zone) สำหรับประชาชนทั่วไป
การวางผังบริเวณภายในวัดดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการพัฒนาวัด การบูรณปฏิสังขรณ์ และการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัดให้มีความเหมาะสมกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา สถาปัตยกรรม ภูมิปัญญาและวิถีวัฒนธรรมของสังคมไทย
(ภาพศูนย์เรียนรู้ภายในวัด)
หลักการออกแบบผังบริเวณและการปรับปรุงภูมิทัศน์ตามหลักภูมิสถาปัตยกรรม
๑) การจัดทำผังแม่บท เป็นการกำหนดพื้นที่ใช้สอยให้เอื้อสำหรับการทำกิจกรรมในวัดผสมผสาน เรื่องประโยชน์ใช้สอยและความงามเข้าด้วยกัน ภายใต้บริบทของสภาพที่ตั้ง ผู้ใช้และกิจกรรม เพื่อทำให้เกิดสภาวะน่าสบาย น่าอยู่ น่าใช้งาน เป็นการวางแผนการใช้งานพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด ปลอดภัย เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนเพื่อรองรับการใช้งาน มีบรรยากาศที่ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรม
ผังแม่บทจะเป็นเครื่องมือช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการกายภาพของวัดให้สามารถใช้สอยพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ มีทิศทาง ทั้งการก่อสร้างอาคาร การวางระบบสาธารณูปโภค และการออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ให้อยู่ในตำแหน่งและมีรูปแบบที่เหมาะสม นำไปสู่การจัดทำแผนการพัฒนาตามผังแม่บท โดยแบ่งเป็นช่วงเวลา (phasing) เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ จัดเตรียมพื้นที่ บุคลากร และงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง
การวางผังแม่บทจะประกอบด้วยรายละเอียดการพัฒนาสภาพกายภาพในด้านต่างๆ ได้แก่ การจัดแบ่งเขตการใช้ที่ดิน (zoning) การจัดวางอาคารและสิ่งก่อสร้าง (Building) ระบบการสัญจร (Circulation) พื้นที่เปิดโล่ง (Open Space) พื้นที่สีเขียว (Green Area) ระบบสาธารณูปโภค (Utilities & Infrastructures) และการแบ่งระยะการพัฒนา (phasing)
๒) งานภูมิทัศน์ คือ สภาพทางธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น เฉพาะภายนอกอาคารหรือพื้นที่ใช้สอยภายนอกอาคาร ทั้งสิ่งก่อสร้าง องค์ประกอบภูมิทัศน์ และ บรรยากาศ เช่น สวน บริเวณพื้นที่เว้นว่างระหว่างอาคาร พื้นที่สีเขียว พืชพันธุ์ ก้อนหิน กรวด สระน้ำ น้ำพุ งานศิลปะกลางแจ้ง ศาลา ผนัง ม้านั่ง รั้ว ที่จงกรม ที่นั่งวิปัสสนา ฯลฯ
งานออกแบบภูมิทัศน์ให้ความสำคัญกับการศึกษาทำความเข้าใจเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติเดิม พยายามรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด และตอบสนองต่อการเข้าไปใช้สอยพื้นที่ของมนุษย์ เป็นกระบวนการออกแบบ การวางแผน การจัดการ การสร้างสรรค์การปรับใช้หรือพัฒนาพื้นที่ภายนอกอาคาร เพื่อสนองต่อประโยชน์ใช้สอย มีความงาม กลมกลืนกับสภาพธรรมชาติเดิม รักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
องค์ประกอบสำคัญของงานภูมิทัศน์คือพืชพันธุ์ ทั้งไม้ยืนต้น (Tree )ไม้พุ่ม (Shrub)ไม้คลุมดิน (Groundcover) ไม้น้ำ (Aquatic plants)ไม้เลื้อย (Vines or climbers) ซึ่งมีการเจริญเติบโต ออกดอก ออกผล ผลัดใบ อาจมีความแตกต่างในแต่ละฤดูกาล พืชต้องการการดูแลรักษา จึงทำให้งานภูมิทัศน์เป็นงานที่ไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และยังต้องทำความเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อพืชพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศ สภาพดิน สภาพน้ำ แสงแดด อากาศ ธาตุอาหาร อุณหภูมิ และระบบนิเวศน์ ฯลฯ โดยหลักการออกแบบสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรมและการวางผังให้กับวัดนั้น จะคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
๑) ส่งเสริมความเป็น “ศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ” ของชุมชนและสังคม
๒) การออกแบบด้วยความสมถะ สมประโยชน์ การนำปัจจัยมาใช้ถึงต้องคำนึงและยึดหลักที่ว่า “ประโยชน์สูง ประหยัดสุด”
๓) การออกแบบให้กลมกลืนกับประวัติศาสตร์ สุนทรียภาพของวัด วิถีชีวิตชุมชน ทั้งรูปแบบและการใช้งาน